นับเป็นความคืบหน้าไปอีกขั้นของหลักสูตรมวยไทยศึกษา ที่ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรมจ.) พัฒนาขึ้น เมื่อก้าวไปถึงขั้นเปิดสอนนักศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว และอยู่ระหว่างร่างหลักสูตรในระดับปริญญาเอก
โดยบรรดาเกจิอาจารย์ ครูมวยไทย นักวิชาการกว่า 50 ชีวิตมาประชุมยกร่างหลักสูตรปริญญาเอกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ครูยอดธง เสนานันท์, ครูผจญ เมืองสนธิ์, ผศ.โพธิ์สวัสดิ์ แสงสว่าง, อาจารย์จรัสเดช อุลิต, อาจารย์พรชัย สมจริง, อาจารย์ชาญณรงค์ สุหงษา, รศ.ดร.พงษ์ชาญ ณ ลำปาง, ดร.อัจฉรา อ่วมเครือ, อาจารย์ยุทธนา วงค์บ้านดู่, ดร.แสวง วิทยพิทักษ์ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกกว่า 30 ท่าน
มีผศ.พิทักษ์ อาจคุ้มวงศ์ อธิการบดี มรมจ. เป็นประธานยกร่างหลักสูตร ดำเนินรายการยกร่าง โดยผศ. ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์ ประธานสาขามวยไทยศึกษาเป็นผู้ดำเนินการประชุม ตั้งแต่ภาคเช้าจนถึงภาคค่ำ และภาคกลางคืนมีการแข่งขันชกมวยไทยวันรวมน้ำใจมวยไทยศึกษา
สำหรับหลักสูตรนี้มีปรัชญาอยู่ที่การมุ่งผลิตครูมวยมืออาชีพที่เป็นผู้นำในการวิจัย ศึกษาค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ ศาสตร์และศิลป์ด้านมวยไทย เพื่อใช้สร้างมวยไทยให้เป็นทุนทางสังคมด้านวัฒนธรรมไทย ให้มีคุณค่าใช้สร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคคลและสังคมไทยให้มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
โดยวัตถุประสงค์ของหลักสูตรมุ่งผลิตบุคลากรด้านมวยไทยศึกษาระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตให้มีสมรรถนะ ดังนี้
1.เป็นผู้สอนมวยไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในและต่างประเทศ 2.เป็นผู้ผลิตครูสอนมวยไทยในระดับบัณฑิตศึกษา สาขามวยไทยศึกษา 3.เป็นผู้ที่มีความสามารถในการวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านมวยไทยศึกษา และ4.เป็นผู้นำด้านการพัฒนามวยไทยในบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก
เนื้อหาสาระของหลักสูตรเรียนรายวิชาแกน 5 หน่วยกิต รายวิชาหลัก 12 หน่วยกิต รายวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต และวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต รายวิชาที่ศึกษา เช่น การวิจัยเพื่อการพัฒนามวยไทย, ภาษาอังกฤษสำหรับมวยไทยศึกษา, องค์ความรู้ด้านมวยไทยศึกษา, การพัฒนาสมรรถนะของครูมวยไทย, ปรัชญาและสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนามวยไทย, มวยไทยศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ, องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย, กลยุทธ์การจัดการสารสนเทศมวยไทย, ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการมวยไทยแนวใหม่, สัมมนามวยไทยเปรียบเทียบ, การวิจัยประยุกต์เพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภาพมวยไทย, วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อการพัฒนามวยไทย, การพัฒนาสมรรถนะครูสอนมวยไทยในต่างประเทศ, การดำเนินธุรกิจมวยไทย, การจัดการสารสนเทศและการส่งเสริมเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลมวยไทย และวิทยานิพนธ์อีก 36 หน่วยกิต
ใครที่สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ผศ.ดร.ชาญชัย หรือ
http://www.mcru.ac.th/muaythai/index.html Email :
dryomdit@hotmail.comผศ.ดร.ชาญชัยกล่าวด้วยว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรผลิตปริญญาเอกที่สร้างมรดกแห่งความภูมิใจร่วมกันของคนไทยทั้งชาติ เพราะมีการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาของคนไทยสู่ชาวโลก สามารถสร้างยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขันโดยใช้ความเป็นไทย ใช้กล่อมเกลาทางสังคม ผนึกกำลังสร้างความสมานฉันท์ เอื้ออาทรต่อกันด้วยสังคมที่มีบุคคลและสังคมคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน
"จัดเป็นหลักสูตรกู้ชาติ สร้างทุนทางสังคม มุ่งสู่การพัฒนาประเทศชาติให้ยั่งยืนบนพื้นฐานการคิดของคนไทยสู่อารยธรรมโลกอย่างแท้จริง" ผศ.ดร.ชาญชัยกล่าว และว่าหลักสูตรนี้คาดว่าจะเปิดสอนได้ในปี 2550 นี้อย่างแน่นอน
ในส่วนของนักศึกษาระดับปริญญาโทรุ่นที่ 1 ของหลักสูตรมวยไทยศึกษา ก็เพิ่งร่วมกับสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคาม เดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศเนื่องในวิชาสัมมนามวยไทยเปรียบเทียบ โดยเลือกศึกษาเปรียบเทียบกับเทควันโดของประเทศเกาหลีใต้ที่สถาบันศิลปะประจำชาติเกาหลีใต้ (KUKIMWON) และเยี่ยมชมสภามวยไทยสมัครเล่นโลกของประเทศเกาหลีใต้ที่กรุงโซล เมื่อวันที่ 24-28 พ.ย.ที่ผ่านมา
จากการเดินทางไปเกาหลีใต้ครั้งนี้ได้รับแนวคิดในการพัฒนามวยไทยว่า ควรพัฒนามวยไทยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล โดยเมืองไทยมีทรัพยากรมวยไทยที่มีศักยภาพมากกว่าเทควันโดของเกาหลีใต้ มีบ่อเกิดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษโดยตรง
อีกทั้งมีหลากหลายมิติ เช่น มิติของมวยไทยสมัครเล่น มิติของมวยไทยอาชีพ มิติของมวยไทยแนวอนุรักษ์และขัดเกลาทางสังคม และมิติมวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย
มวยไทยมีความเหนือกว่าเทควันโด ตรงที่ประเทศของเราสามารถพัฒนามวยไทยไปจนถึงกีฬาอาชีพแล้ว ขณะที่เทควันโดยังเป็นกีฬาสมัครเล่น
แต่ต่างกันที่รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินการเองอย่างเป็นระบบ ขณะที่ประเทศไทยกระจัดกระจายไม่เป็นระบบ ขาดการพัฒนาอย่างมีทิศทาง รัฐบาลควรจะเอาจริงเอาจัง รีบหาทางตั้งสถาบันศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาติ จัดทำมาตรฐานและสร้างศักยภาพในการใช้ศิลปะแขนงนี้ ปลูกฝังลงสู่คนไทยอย่างจริงจังเสียที
เพราะมวยไทยช่วยด้านการกล่อมเกลาทางสังคม การออกกำลังกาย การประกอบอาชีพ และการกีฬาสมัครเล่นสำหรับนานาชาติ อีกทั้งใช้เป็นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาชาติ ไม่เช่นนั้นมวยไทยจะกลายพันธุ์เป็นศิลปะของชาวต่างชาติ เช่น มวยเควัน คิ๊กบอกซิ่ง รวมไปถึงถูกประยุกต์ไปใช้ในศิลปะอื่นๆ ของชาติอื่นๆ
วิทยาลัยมวยไทยศึกษา บุกเบิกงานด้านนี้ก็เปรียบเสมือนแสงหิ่งห้อยในคืนเดือนมืด เป็นกลุ่มที่มีคนที่รักมวยไทยมาทำด้วยใจเพียง 2-3 คน แม้จะมีหลักสูตรเปิดถึงปริญญาโท และกำลังจะเปิดถึงปริญญาเอกในภาคเรียนหน้า ก็ยังไม่มีพลังเพียงพอจะขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วทันกับทิศทางของการพัฒนาได้ ถ้าปราศจากการสนับสนุนและเอาจริงเอาจังกับภาครัฐที่ทำหน้าที่เฉพาะในด้านนี้โดยตรง
โดยเฉพาะครูมวยรุ่นเกจิหรือปรมาจารย์ นับวันจะแก่กำลังร่วงโรย ถ้ายังไม่รีบดำเนินการอนุรักษ์ไว้เสียแต่วันนี้ อนาคตอาจไม่มีมวยไทยที่มีสาระ และคุณค่าที่แท้จริงให้เห็นในรุ่นลูกรุ่นหลาน และบางทีอาจต้องไปศึกษาศิลปะของชาติแขนงนี้ยังต่างประเทศ
อนาคตของมวยไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
ข่าวสด